ดิฉันได้รับแรงบันดาลใจอย่างยิ่งในการศึกษาค้นคว้าด้านไรฝุ่นและโรคภูมิแพ้ สาเหตุเพราะต้องดูแลลูกชาย 3 คน ซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคภูมิแพ้ที่มีสาเหตุมาจากไรฝุ่น  (Mite allergy)  จึงขอเล่าสู่กันฟัง จากประสบการณ์ตรงของดิฉันใน 2 สถานะคือ  ฐานะของคุณแม่ และ ฐานะนักวิชาการด้านไรฝุ่น (Mite expert)

ในฐานะคุณแม่ ดิฉันเข้าใจหัวอกของท่านที่ต้องดูแลคนที่เรารักที่มีอาการภูมิแพ้ โดยเฉพาะเมื่อลูกเราเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่วัยเด็ก  สุดสงสารเลยจนอยากจะเป็นแทนเอง แต่เราต้องผ่านมันไปให้ได้ ประคับประคองจนเขาโตขึ้นร่างกายมีภูมิต้านทานมากขึ้น เราจึงค่อยเบาใจ  สิ่งที่ท่านต้องทำคือปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งขัด และ ‘ทำใจ’ ด้วยเพราะเป็นโรคเรื้อรัง  แพทย์บางท่านฟันธงว่าไม่หายขาดก็มี  ดังนั้นต้องรับมือกับมัน อย่างแรกคือ เราต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อไม่เป็น ‘ผู้ขี้แพ้’ ตลอดเวลา แม้ว่าสาเหตุหนึ่งของโรคภูมิแพ้จะมาจากพันธุกรรมก็ตาม  แต่สภาพแวดล้อมรอบตัวเราก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้กำเริบขึ้นมาได้  มีรายงานจำนวนมากยืนยันว่า หากลดการสูดดมสารก่อภูมิแพ้เข้าร่างกายได้ จะมีผลทำให้อาการภูมิแพ้ลดลง  และควรนำวิธีป้องกันกำจัดไรฝุ่นที่เหมาะสมกับท่าน มาปฏิบัติควบคู่กันไปกับการรักษาโรค จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคได้ผลดียิ่งขึ้น อาการภูมิแพ้ไม่กำเริบบ่อยๆ คุณภาพชีวิตดีขึ้น  ดังนั้นด้วยอาชีพของดิฉันเป็นครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัย ดิฉันจึงสามารถศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านไรฝุ่นในเชิงลึกได้

ในฐานะนักวิชาการดิฉันเชี่ยวชาญใน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ หนึ่ง-ผลิตตัวไรฝุ่นให้ได้เยอะๆ เป็น mass scale production  เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนไรฝุ่น (Mite vaccine)  ได้คิดค้นนวัตกรรมอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาไว้ 10 รายการ และได้รับรางวัลระดับประเทศ 2 รางวัล  สอง-หาวิธีการจัดการกับเจ้าตัวไรฝุ่น ให้มันมีน้อยลง อย่ามายุ่งกับเรามาก  หนึ่งในเหล่านั้นคือผลงานเรื่องผ้ากันไรฝุ่น เหตุเพราะถูกถามบ่อยๆว่า ผ้ากันไรฝุ่น กันได้จริงหรือหลอก?  ดิฉันค้นคว้าเรื่องนี้อยู่หลายปี ผลคือ ได้ตีพิมพ์องค์ความรู้ที่ได้ในวารสารระดับนานาชาติรวม 6 เรื่อง โดยได้รายงานเป็นครั้งแรกของโลกว่า ผ้ากันไรฝุ่นเป็น medical textile ไม่ใช่จะเอาวัสดุอะไรก็ได้มาผลิตเป็นผ้ากันไรฝุ่น พร้อมลงรูปสุด amazing พบตัวไรฝุ่นก่อรังในเนื้อผ้าที่ claim ว่าเป็น ‘Anti-mite cover หรือ ผ้ากันไรฝุ่น’ และได้รับ ‘รางวัลผลงานวิจัยทางปรีคลินิคประจำปี พศ. 2550’ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและขายสิทธิ์ให้กับภาคเอกชนเพื่อไปผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อให้เป็นตัวอย่างรูปธรรมของการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อออกสู่สังคมต่อไป ดิฉันเรียนให้เกิดความเข้าใจตรงกันไว้ว่า  ผ้ากันไรฝุ่นมิใช่ผ้าวิเศษ ที่จะทำให้ผู้ใช้หายจากโรคภัยได้  รายงานจากนักวิจัยทั่วโลกยังมีทั้งกลุ่มเห็นด้วยและกลุ่มไม่เห็นด้วย ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ผ้ากันไรฝุ่นกับการลดอาการภูมิแพ้ อย่างไรก็ตามวิธีการป้องกันไรฝุ่น (Mite control) ด้วยการคลุมเครื่องนอน (encasement of beddings) ก็เป็นที่นิยมแพร่หลายในทั่วโลกไปแล้ว ผ้ากันไรฝุ่นคุณภาพดีคือ  ต้องสามารถกั้นมูลและตัวไรฝุ่นที่อยู่ในเครื่องนอนมิให้ออกมาได้  เพราะจะช่วยให้เราลดการสูดดมสารก่อภูมิแพ้ลงได้